4 days ago

อารามบอย | SS 01 EP. 12 | วัดเบญจมบพิตรฯ ชมสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่ของชาติโดยนายช่างใหญ่แห่งสยาม - The Cloud Podcast

ในวันที่ 28 เมษายน เรารำลึกถึง ‘วันนริศ’ หรือวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ได้รับยกย่องให้เป็น ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ สมเด็จครู หนึ่งในผู้สร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ของชาติ หนึ่งในนั้นก็คือ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ซึ่งถือเป็นผลงานที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงที่สุด

วันนี้รายการอารามบอย กับ ต้า-ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล สุดยอดแฟนพันธุ์แท้วัดไทย และ ทัน-อธิภัทร แสวงผล แอดมินเพจ สมเด็จครู จะพาคุณไปสัมผัสความงามของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และเล่าถึงความสำคัญในเชิงสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์

เมื่อคุณเดินทางมาถึงวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สิ่งแรกที่คุณจะพบคือพระอุโบสถ ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบไว้อย่างประณีตและงดงาม ภายนอกอุโบสถมีหลังคาซ้อนลดหลั่นถึง 4 ชั้นเรียงรายสวยงาม จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่ดีที่สุดของไทย 

ภายในพระอุโบสถยังเต็มไปด้วยศิลปกรรมที่ทรงคุณค่า สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างศาสนาและศิลปะไทย เช่น กระจกสีลวดลายเทพนมในสไตล์ตะวันตก เสมาหินอ่อนที่ออกแบบมาอย่างลงตัว ภายในยังมีพระพุทธชินราชจำลอง ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในไทย ยิ่งเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้กับสถานที่แห่งนี้

จุดเด่นที่ไม่ควรพลาด คือการเจาะช่อง 8 ช่องภายในพระอุโบสถ บรรจุภาพเจดีย์สำคัญ จากทั่วประเทศ เช่น พระปฐมเจดีย์ วัดใหญ่ชัยมงคล พระธาตุพนม เพื่อรำลึกถึงขอบเขตพระราชอำนาจและอาณาเขตของราชอาณาจักรสยาม

นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปแห่งแรกของไทย รวบรวมพระพุทธรูปจากหลากหลายยุคสมัย รวมทั้งพระพุทธรูปต่างประเทศที่สะท้อนถึงการเดินทางของพระพุทธศาสนาในแผ่นดินสยาม

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามจึงเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปะและประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติ และเราอยากชวนทุกคนตามไปเยี่ยมชมทั้งหมดในรายการอารามบอยรอบนี้ 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม :

  • วัดเดิมชื่อ วัดแหลม ก่อนได้รับการปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดเบญจมบพิตร ในสมัยรัชกาลที่ 5
  • ความงามของพระอุโบสถทำให้วัดนี้ได้รับชื่อเล่นว่า วัดหินอ่อน

Comments (0)

To leave or reply to comments, please download free Podbean or

No Comments

Copyright 2019 All rights reserved.

Podcast Powered By Podbean

Version: 20241125